ปวดฟันเกิดจากฟันคุดขึ้น หรือเปล่า ?

ฟันคุด

ฟันคุด คือ อะไร ?

ฟันคุด คือ ฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ มีลักษณะการขึ้นไม่เต็มที่หรือมีแนวการขึ้นของฟันที่ผิดปกติ ทำให้อาจเห็นเพียงฟันบางส่วนหรือไม่เห็นเลยเพราะเนื้อฟันฝังตัวอยู่ใต้เหงือก บริเวณกระดูกขากรรไกร

ฟันคุด (Impacted Tooth, Wisdom Tooth) พบได้บ่อยที่สุดคือ ฟันกรามซี่ที่ 3 ซึ่งเป็นฟันกรามซี่ในสุดทั้งบนและล่าง ทั้ง 2 ฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งเป็นฟันซี่ที่ขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่นๆ

อธิบายก่อนว่าโดยปกติแล้ว คนเราจะมีฟันทั้งหมด 32 ซี่ และจะมีการขึ้นของลำดับฟัน ไล่เรียงกันไปตามช่วงอายุตั้งเเต่ ฟันตัด ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย ไปจนถึงฟันกรามใหญ่ ส่วนใหญ่มักพบว่ามีขึ้นในช่วงอายุประมาณ 17 ถึง 25 ปี หรือบางคนอาจจะช้ากว่านั้น

ฟันคุด

วิธีรักษาฟันคุด

ฟันคุดจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดตามมา เช่น ปวดฟัน ปวดเหงือก
เหงือกบวม เหงือกอักเสบ ติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากเศษอาหารสะสมอยู่ที่ช่องว่างฟันคุดและฟันซี่ข้างเคียงผุได้

การที่ทันตแพทย์จะตัดสินใจรักษาฟันคุดด้วยการผ่าหรือถอนฟันคุด ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ สุขภาพช่องปากของคนไข้

เมื่อไหร่ที่สามารถถอนฟันคุดได้: การถอนฟันคุดออกเหมาะกับ
– ฟันคุดที่โผล่ขึ้นจากแนวเหงือกจนสุด สังเกตตัวฟันให้เห็นได้ในช่องปาก
– มีช่องว่างในปากเพียงพอสำหรับให้ฟันขึ้นได้โดยไม่ซ้อนเก ไม่กระทบกับอาการเจ็บปวด ไม่มีปัญหาการเรียงตัวของฟัน
– ฟันคุดประเภทที่ไม่ติดอยู่ใต้เหงือกหรือกระดูกขากรรไกรสามารถถอนออกได้

เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าฟันคุด: เคสที่จำเป็นต้องผ่าฟันคุดออก
– ฟันคุดที่ยังโผล่ออกมาจากเหงือกหรือกระดูกไม่เต็มที่
– ฟันคุดมีอาการปวด บวม ติดเชื้อ กระทบกับฟันซี่ข้างเคียง
– ฟันอยู่ในตำแหน่งที่อาจก่อให้เกิดปัญหาทางทันตกรรมในอนาคตได้ เช่น มีแนวการขึ้นเบียดฟันซี่ข้างๆ ทำให้ฟันล้มหรือซ้อน
– ฟันมีความเสี่ยงที่จะทำลายกระดูกขากรรไกรหรือฟันซี่ข้างเคียงจากตำแหน่งหรือรูปแบบการเจริญเติบโต

ขั้นตอนการรักษาฟันคุด

  1. ทันตแพทย์วินิจฉัยตำแหน่ง เเนวการขึ้นของฟันคุด จากภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
  2. สำหรับการรักษาฟันคุดด้วยการถอนฟัน
    2.1 คุณหมอจะฉีดยาชาบริเวณรอบฟันที่จะต้องถอน รอจนกว่ายาชาจะออกฤทธิ์
    2.2 คุณหมอจะค่อยๆ คลายฟันและถอนฟันออกจากเบ้าฟันในกระดูกขากรรไกรโดยใช้เครื่องมือทันตกรรมพิเศษ
  3. ในกรณีที่ต้องรักษาฟันคุดด้วยการผ่า
    3.1 เริ่มต้นคุณหมอจะฉีดยาชาให้ก่อนและรอจนกว่ายาชาจะออกฤทธิ์
    3.2 หลังจากนั้นก็จะเริ่มผ่าเหงือกและค่อยๆเอาฟันคุดออกมา แต่ถ้าหากว่าฟันอยู่ในแนวระนาบอาจต้องมีการกรอฟันและค่อยๆเอาฟันออกมา
    3.3 เมื่อเอาออกหมดแล้วคุณหมอจะล้างแผลให้สะอาดและเย็บปิดปากแผล หลังจากนั้นคุณหมอจะให้กัดผ้าก๊อซแน่นๆประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดหยุดไหล

ฟันคุดเกิดจากอะไร

ฟันคุดเกิดจากการพื้นที่บริเวณขากรรไกรมีไม่เพียงพอให้ฟันขึ้นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรม การที่ขากรรไกรมีขนาดเล็กกว่าฟันที่ขึ้นมา ทำให้ฟันไม่สามารถเจริญเติบโตเเละงอกขึ้นมาได้ ส่วนใหญ่พบในแนวฟันกรามซี่สุดท้ายมักขึ้นในตำแหน่งที่ผิดปกติ

ฟันคุด มีกี่ซี่

คนส่วนใหญ่มีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ ในตำแหน่งฟันกรามซี่ที่ 3 ซึ่งเป็นฟันกรามชุดสุดท้ายที่งอกออกมา โดยสองซี่อยู่ที่ขากรรไกรบนด้านในสุดและอีกสองซี่ที่ขากรรไกรล่างด้านในสุด

ฟันคุดมีกี่แบบ

โดยทั่วไปฟันคุดมี 2 แบบ แบ่งตามลักษณะการขึ้น ได้ดังนี้

  1. ฟันคุดแบบมีเหงือกปกคลุม (Soft Tissue Impaction) ลักษณะฟันคุดประเภทนี้แม้จะโผล่พ้นกระดูกขากรรไกรได้ แต่ยังไม่สามารถทะลุผ่านเหงือกได้ หรืออาจจะผ่านได้เพียงบางส่วน ฟันคุดประเภทนี้สามารถถอนได้ หรือผ่าแต่เหงือกโดยไม่ต้องกรอกระดูก
  2. ฟันคุดที่อยู่ภายใต้กระดูกขากรรไกร (Bony impaction)  ลักษณะฟันคุดที่ไม่สามารถโผล่พ้นกระดูกได้
    – ฟันคุดมีบางส่วนอยู่ในกระดูก (Partial Bony Impaction) ฟันคุดโผล่ขึ้นมาเหนือเหงือกบางส่วน แต่ติดอยู่ใต้กระดูกขากรรไกร
    – ฟันคุดอยู่ภายใต้กระดูกทั้งซี่ (Complete Bone Impaction) ฟันคุดทั้งซี่ฝังตัวอยู่ภายใต้กระดูกขากรรไกรและยังไม่โผล่พ้นเหงือก
    ฟันคุดประเภทนี้จะขึ้นมาเองไม่ได้ ปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดถุงน้ำหรือดันฟันซี่อื่นให้ล้มได้ค่ะ  กรณีเช่นนี้ ต้องผ่าตัดเอาฟันคุดออกและเย็บแผล

ลักษณะ ฟันคุด

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งลักษณะฟันคุดได้จากความสัมพันธ์กับฟันข้างเคียงได้ 4 แบบ

  • ฟันคุดที่หันส่วนครอบฟัน (Crown) เข้าหาฟันกรามแท้ซี่ที่สอง (Mesioangular impaction/Mesial impaction) พบบ่อยที่สุด
  • ฟันคุดหันส่วนครอบฟันออก (Distoangular impaction/Distal impaction)
  • ฟันคุดสามารถขึ้นได้ตรงๆ (Vertical impaction)
  • ฟันคุดขึ้นในแนวนอน (Horizontal impaction)

ฟันคุดมีทุกคนมั้ย?

ไม่ใช่ทุกคนที่มีฟันคุด จากการศึกษาพบว่าประมาณ ⅓ เกิดมาโดยไม่มีปัญหาฟันคุด

ด้วยวิวัฒนาการโครงสร้างฟันที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนได้ ในอดีตธรรมชาติของฟันกรามช่วยในการบดเคี้ยวอาหารแข็งเหนียว เช่น กิ่งไม่ เนื้อดิบ แต่รูปแบบอาหารที่เปลี่ยนไป มนุษย์ไม่ต้องการพลังในการบดเพิ่มเติมอีกต่อไป ร่างกายของเราจึงค่อยๆ ลดการใช้งานกระดูกกราม ทำให้ขนาดกรามเล็กลงตามไปด้วย

มีฟันคุดต้องหาหมอมั้ย จะรู้ได้อย่างไรว่ามีฟันคุด

โดยปกติเรามักจะไม่ค่อยสนใจกับฟันคุด หรือในบางคนอาจจะไม่ทราบด้วยว่าตัวเองมีฟันคุด เพราะฟันคุดไม่เห็นได้ด้วยตาหากฟันขึ้นอยู่ภายใต้กระดูกขากรรไกร จนถ้ามีอาการอักเสบที่เหงือกบริเวณที่มีฟันคุด คนไข้ที่ต้องการ จัดฟัน และเมื่อต้องตรวจเบื้องต้นคุณหมอให้เอกซเรย์ช่องปาก จึงทราบว่ามีฟันคุด ซึ่งเมื่อเรามีฟันคุด

ถ้าใครกังวลเรื่องนี้จริงๆก็สามารถแวะมาตรวจเช็คสุขภาพฟัน และมาพบทันตแพทย์เพื่อ x-ray ดูได้เช่นกันค่ะ เมื่อเราไปหาทันตแพทย์และตรวจพบว่าเรามีฟันคุด โดยส่วนมากทันตแพทย์จะแนะนำให้เราเอาฟันคุดออก เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับช่องปากอื่นๆ ที่อาจจะตามมา เพราะการปล่อยให้ฟันคุดฝั่งอยู่ในขากรรไกร อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดฟันคุด หรือฟันคุดดันฟันอื่นๆจนแนวฟันเสียหาย มีผลต่อการล้มของฟันซี่ข้างเคียง

สังเกต ฟันคุด

ฟันคุดมีหลายลักษณะ หลายๆเคสที่เกิดขึ้นอาจจะมองไม่เห็นได้ด้วยตา เพราะฟันไม่สามารถโผล่พ้นเหงือกตามแนวฟันปกติได้ แต่คุณสามารถสังเกตฟันคุดได้ เช่น

  1. เริ่มมีการปวดหรือเสียวเมื่อสัมผัสบริเวณที่เป็นฟันคุด: ถ้าใช้ลิ้นดุนหรือสัมผัสตรงเหงือกส่วนที่มีฟันคุดรู้สึกเสียว หรือเมื่อกัดหรือเคี้ยวอาหารโดนบริเวณฟันคุดอาจทำให้รู้สึกปวดได้
  2. ปวดฟัน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเมื่อฟันคุดเริ่มเคลื่อนที่ อาจเริ่มต้นจากปวดเบา ๆ ไปจนถึงปวดรุนแรง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสภาวะอักเสบของฟัน ถ้ามีการติดเชื้อมากเข้าอาจลามไปถึงเจ็บคอ กลืนน้ำลายไม่สะดวก ปวดแก้ม
  3. เหงือกบวมแดง: ฟันคุดที่พยายามดันตัวเองออกมาอาจทำให้เนื้อเยื่อหรือเหงือกบวมแดง เกิดการอักเสบได้
  4. สังเกตเห็นฟันคุดปรากฏอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ปกติ เช่น อาจเห็นฟันปรากฏบริเวณปลายด้านหลังของปากหรือถูกปิดบังด้วยเนื้อเยื่อหรือเหงือก
  5. มีกลิ่นปาก: ฟันคุดที่โผล่ขึ้นมาพ้นเหงือกบางส่วน อาจก่อให้เกิดช่องว่างบริเวณซอกฟันคุดและฟันข้างเคียง ทำให้เศษอาหารเข้าไปติด ทำความสะอาดได้ยาก ทำให้มีกลิ่นปาก ลามไปถึงฟันผุได้

ทางที่ดีถ้าเรารู้ว่าตัวว่ามีฟันคุด เริ่มสังเกตอาการปวดได้ขณะเริ่มต้น คอสเดนท์อยากให้นัดหมายกับทันตแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยทำให้การรักษาเป็นไปได้ง่าย ไม่ต้องเสี่ยงกับการอักเสบที่ลุกลาม เเละต้องอดทนรอกินยาเพื่อลดการอัพเสบจึงจะสามารถผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุดออกได้

เตรียมตัวก่อนรักษาฟันคุด

  • นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีผลให้การหมุนเวียนของเลือด ทำให้เลือดสูบฉีดมาก เสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดมากขึ้น
  • งดเว้นการสูบบุหรี่
  • ทำความสะอาดฟัน
  • หากมีการทานวิตามินหรืออาหารเสริมสามารถแจ้งเพื่อปรึกษากับคุณหมอว่าควรหยุดทานก่อนผ่าตัดหรือไม่
  • ถ้ามีโรคประจำตัวควรแจ้งคุณหมอทราบก่อนค่ะ

วิธีดูแลฟันหลังผ่า/ถอนฟันคุดออกแล้ว

คำแนะนำหลังการผ่าฟันคุด/ถอนฟันคุด

  • ห้ามเลือดออกด้วยกัดผ้าก๊อซที่ทันตแพทย์เตรียมไว้ให้เพื่อห้ามเลือด กัดทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง และสามารถเปลี่ยนผ้าก๊อซใหม่ได้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  • อาการบวมเป็นเรื่องปกติหลังการผ่าตัดช่องปาก การประคบน้ำแข็งที่ด้านนอกแก้มทุกๆ 20 นาทีในช่วง 24 ชั่วโมงแรก จะช่วยลดอาการบวมได้ หลังจากวันแรก สามารถใช้การประคบอุ่นเพื่อบรรเทาอาการไม่สบายได้
  • ทันตแพทย์จะสั่งยาแก้ปวด ให้รับประทานยาตามคำแนะนำ  คุณสามารถเริ่มใช้ยาแก้ปวดก่อนที่ยาชาเฉพาะที่จะหมดฤทธิ์เพื่อป้องการอาการปวดหลังผ่าตัด
  • ไม่แนะนำให้บ้วนเลือดหรือน้ำลายภายใน 12 ชั่วโมงหลังการถอน จะไปรบกวนแผลที่ผ่าตัดหรือถอนฟัน ทำให้เลือดไม่หยุดไหล แนะนำให้คนไข้กลืนเลือด และน้ำลายได้เลย พร้อมกัดผ้าก๊อซไว้ 2 ชั่วโมง
  • ให้เวลาร่างกายได้พักผ่อนและฟื้นตัว  หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากสัก 2-3 วันหลังการผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์: การสูบบุหรี่อาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนฟื้นตัว และแอลกอฮอล์อาจรบกวนประสิทธิภาพของยาและทำให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ติดตามความคืบหน้าในการรักษา ตามที่ทันตแพทย์นัดหมาย
  • เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน: สังเกตสัญญาณของการติดเชื้อ ถ้ามีอาการปวด บวม แดง มีไข้ ควรติดต่อทันตแพทย์ทันที
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่ทำการผ่าตัด: หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่ทำการผ่าตัดด้วยนิ้วหรือลิ้น เนื่องจากอาจทำให้เกิดแบคทีเรียและขัดขวางการรักษาได้
  • รักษาความสะอาดของช่องปากด้วยความระมัดระวัง สามารถแปรงฟันได้ตามปกติ
  • ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เคี้ยวง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดร้อนในช่วง 2 – 3 วันแรก

Related Posts

สิทธิเด็ก
เด็กๆ ทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธินับแต่เกิดมา คือเมื่อถือกำเนิดมาจะอยู่ภายใต้ข้อตกลงสากลที่รู้จักว่า อนุสัญญา (อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลก กว่า 196 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ลงนามและให้การรับรองสิทธิดังกล่าว โดยได้ลงนามตั้งแต่วันที่...
Read more
แปรงสีฟันเด็ก
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังเตรียมตัวซื้อแปรงสีฟันเด็กให้ลูกน้อยอาจสงสัยว่ามีวิธีเลือกแปรงสีฟันให้เหมาะกับลูกน้อยยังไงบ้าง วันนี้เรามีวิธีการเลือกง่ายๆ มาฝาก เลือกแปรงสีฟันเด็กยังไงดีนะ ไม่ว่าลูกน้อยจะมีอายุเท่าไหร่ แต่สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญในการเลือกแปรงสีฟันให้ลูกก็คือ ด้ามจับแปรง ในปัจจุบันผู้ผลิตหลายแห่งได้ทำด้ามจับมาหลากหลายดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นแบบด้ามแบน, ด้ามกลม, ด้านเหลี่ยม แตกต่างกันออกไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้เลือกซื้อตามความถนัดและลวดลายที่ลูกชอบได้เลยครับ...
Read more
ฟันเหลือง
ปัญหาฟันเหลือง เป็นปัญหาที่ทำให้หลายๆ คนหนักอกหนักใจเป็นอย่างมาก เพราะการที่มีรอยยิ้มที่สดใส ฟันมีสีขาวดูสะอาด นับเป็นบุคลิกภาพที่ดี นอกจากหน้าตา ผิวพรรณ และรูปร่าง สิ่งเหล่านี้เป็นการช่วยเสริมสร้างความมั่นใจอย่างหนึ่ง ปัญหาสีฟันเหลืองอาจมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ โดยต้องหาสาเหตุก่อนว่าที่แท้จริงแล้วปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร คราบเหลืองที่ฟัน...
Read more
ฟันเด็กเหลือง
ดูแลช่องปากถูกวิธี ลดความเสี่ยงไม่ให้ลูกฟันเหลือง
วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่มีปัญหาฟันง่ายที่สุด เนื่องจากเด็กหลายคนอาจไม่มีความรู้เพียงพอต่อการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างทั่วถึง อีกทั้งตัวฟันน้ำนมเองก็ยังไม่แข็งแรงเท่าฟันแท้ที่ขึ้นในวัยผู้ใหญ่ จึงเกิดปัญหาฟันเหลืองได้ง่ายกว่าวัยอื่น วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวเพื่อดูแลให้ลูกน้อยฟันขาวขึ้นด้วย สาเหตุฟันเหลืองเกิดจากอะไร อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ การอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีสีเข้มเป็นประจำ จะทำให้สีของอาหารเหล่านั้นติดฟันง่ายขึ้น เช่น ชา...
Read more
Translate »