ดูแลช่องปากถูกวิธี ลดความเสี่ยงไม่ให้ลูกฟันเหลือง
วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่มีปัญหาฟันง่ายที่สุด เนื่องจากเด็กหลายคนอาจไม่มีความรู้เพียงพอต่อการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างทั่วถึง อีกทั้งตัวฟันน้ำนมเองก็ยังไม่แข็งแรงเท่าฟันแท้ที่ขึ้นในวัยผู้ใหญ่ จึงเกิดปัญหาฟันเหลืองได้ง่ายกว่าวัยอื่น วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวเพื่อดูแลให้ลูกน้อยฟันขาวขึ้นด้วย
สาเหตุฟันเหลืองเกิดจากอะไร
- อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ การอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีสีเข้มเป็นประจำ จะทำให้สีของอาหารเหล่านั้นติดฟันง่ายขึ้น เช่น ชา กาแฟ
- ฟันผุ หากมีฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาแล้วฟันซี่นั้นจะมีสีตามอาการของฟันผุ ได้แก่ สีเหลืองเข้ม สีน้ำตาล หรือสีดำ
- ฟันตาย ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุหรือถูกกระแทกอย่างแรงบริเวณฟัน จนเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงฟันฉีกขาด และไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน ทำให้ฟันซี่นั้นไม่มีเลือดและประสาทฟันมาหล่อเลี้ยง ทำให้ฟันมีสีทึบ
- ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป ทำให้ฟันตกกระจนมีจุดสีน้ำตาลบนฟัน ซึ่งเกิดจากการที่เด็กกลืนยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
- ปัจจัยอื่นที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการมีสีฟันผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด หรือการรับยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาเตตราไซคลีน
ฟันขาวขึ้นดีอย่างไร?
- แก้ปัญหาฟันเปลี่ยนจากสีเหลือง สีน้ำตาล หรือดำให้เป็นสีขาวดังเดิม แต่ความขาวขึ้นอยู่กับฟันซี่นั้นด้วย
- ลดปัญหาช่องปากเนื่องจากลดคราบหินปูนที่ทำลายเคลือบฟัน
- เสริมสร้างความมั่นใจทุกครั้งเวลายิ้ม
วิธีการรักษาฟันให้ขาวขึ้น
1. การขูดหินปูน
โดยทันตแพทย์จะตรวจเช็คสุขภาพช่องปาก เมื่อเตรียมความพร้อมเรียบร้อยจึงใช้เครื่องอัลตร้าโซนิคขูดหินปูน ซึ่งจะสั่นสะเทือนเพื่อกะเทาะคราบหินปูนให้หลุดออกจากผิวฟัน ตามด้วยเครื่องมือชนิดใช้มือขูดเพื่อกำจัดคราบหินปูนและคราบจุลินทรีย์ในบริเวณที่เครื่องอัลตร้าโซนิคทำความสะอาดไม่ทั่วถึง จากนั้นจึงใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดบริเวณซอกฟันที่ประชิดกัน และใช้หัวขัดที่ทำจากยางขัดฟันร่วมกับผงขัด เพื่อกำจัดคราบเหนียวที่ติดตามผิวฟัน
2. ฟอกสีฟัน
ทันตแพทย์จะตรวจช่องปากและดูประวัติคนไข้เพื่อเทียบเฉดสีของฟันก่อนรับการฟอกสีฟัน หากมีปัญหาช่องปาก ทันตแพทย์จะแก้ปัญาเหล่านั้นก่อน เช่น ขูดหินปูน ขัดฟัน หรืออุดฟัน จากนั้นจึงทาน้ำยาเพื่อปกป้องเหงือกและเนื้อเยื่อรอบฟันที่จะฟอกสีฟัน หลังจากเป่าฟันให้แห้งแล้วทันตแพทย์จะป้ายน้ำยาฟอกสีฟันลงบนฟัน พร้อมทั้งใช้ไฟ Cool light กระตุ้นการทำงานของน้ำยาฟอกสีฟัน เพื่อให้น้ำยาฟอกสีฟันออกฤทธิ์รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เสร็จแล้วจึงกำจัดน้ำยาฟอกสีฟันและน้ำยาที่ใช้ป้องกันเหงือกออกให้เรียบร้อย
3. การเคลือบฟลูออไรด์
นอกจากวิธีที่แนะนำทั้ง 2 วิธีแรกแล้ว การเคลือบฟลูออไรด์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดโอกาสในการเกิดหินปูน ทันตแพทย์จะแปรงหรือขัดฟันให้สะอาด จากนั้นเลือกขนาดถาดฟลูออไรด์ให้เหมาะกับชุดฟัน ใส่ฟลูออไรด์เจล 1/3 ของความสูงถาด ครอบลงบนฟันบนและฟันล่าง เด็กจะต้องกัดถาดเอาไว้ประมาณ 4 นาที ขณะที่เคลือบฟลูออไรด์เจลต้องดูดน้ำลายตลอดเวลา เพื่อไม่ให้กลืนฟลูออไรด์ที่เกินลงไปในคอ หรืออาจใช้พู่กันทาบางๆ บริเวณผิวฟันในกรณีที่เคลือบฟันด้วยฟลูออไรด์วานิช โดยเน้นที่จุดผุสีขาว ด้านบดเคี้ยว และด้านประชิดในซอกฟัน ทันตแพทย์จะต้องระวังไม่ให้โดนเหงือกเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองต่อช่องปากด้วย
4. เลือกรับประทานผักผลไม้ประเภทที่ต้องเคี้ยว
เลือกรับประทานอาหารเหล่านี้จะมีสารขัดฟันอยู่ในตัว เช่น แครอท แอปเปิ้ล สับปะรด แซลมอน แต่ต้องรับประทานเป็นประจำ และไม่สามารถทำให้ฟันขาวขึ้นได้ถาวร
5. ทำความสะอาดลิ้น
ลิ้นอาจเป็นอวัยวะหนึ่งในช่องปากที่ใครหลายคนอาจทำความสะอาดไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของฟันเหลือง ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดลิ้นด้วย
วิธีการดูแลรักษาหลังจากฟันขาวขึ้น
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหากเป็นไปได้ควรแปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร
- ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปากทุกครั้งควบคู่กับการแปรงฟัน เช่น ไหมขัดฟัน และน้ำยาบ้วนปาก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสีเข้มหรือมีฤทธิ์กัดกร่อนเคลือบฟัน รวมถึงอาหารที่แข็งเกินไป
- ขูดหินปูนอันเป็นต้นเหตุทำให้ฟันเหลืองเป็นประจำทุก 6 เดือน ในกรณีที่ดูแลสุขภาพช่องปากดีก็สามารถขูดหินปูนได้ปีละ 1 ครั้ง
- หากต้องการให้ฟันขาว สามารถฟอกสีฟันได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ควรปรึกษาทันตแพทย์ด้วย
- หากพบปัญหาช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ ฟันบิ่น หรือฟันหักควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที