ปวดฟัน
ทำความรู้จักฟันของเรา
อาการปวดฟันเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดอาการปวด หรือเสียวฟันมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ก็ควรมาพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามมากขึ้น
ส่วนประกอบของฟัน มีอะไรบ้าง?
ฟันของเรา ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ตัวฟัน (Crown) เป็นส่วนที่มองเห็นได้ด้วยตา มีลักษณะเป็นรูปร่างสีขาว และส่วนที่สอง คือ รากฟัน (Root) รากฟันจะฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรและมีเหงือกปกคลุมอีกชั้น ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากในช่องปาก
โดยหากแบ่งตามโครงสร้าง สามารถแบ่งได้ 3 ส่วน ชั้นแรกเป็นชั้นเคลือบฟัน (Enamel)
หากอยู่บริเวณรากฟันจะเรียกชั้นเคลือบรากฟัน (Cementum) ซึ่งชั้นเคลือบฟันจะมีลักษณะค่อนข้างแข็ง ถัดจากชั้นเคลือบฟันจะเป็นในส่วนของชั้นเนื้อฟัน (Dentin) ชั้นเนื้อฟันจะมีโครงสร้างลักษณะเป็นท่อเล็กๆ (Dentinal tubule) โดยจะมีเส้นประสาทเข้ามาหล่อเลี้ยง เมื่อสัมผัสความร้อนหรือความเย็น จะมีการเคลื่อนไหวของเส้นประสาท ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการเสียวฟันขึ้นมาได้ ถัดจากชั้นเนื้อฟันจะเป็นชั้นโพรงประสาทฟัน (Pulp) ซึ่งชั้นโพรงประสาทฟันจะมีเส้นเลือดและเส้นประสาทค่อนข้างมาก
สาเหตุของอาการปวดฟัน
โดยปกติแล้วเมื่อมีอาการปวดฟันเกิน มักมีสาเหตุมาจากฟันโดยตรง มากถึงร้อยละ 80 และอีกร้อยละ 20 ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการปวดฟันโดยตรง ซึ่งหากมีอาการปวดฟัน ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุและขอคำปรึกษาจากทันตแพทย์ได้โดยตรง
สาเหตุของการปวดฟันโดยตรง ได้แก่
-
-
อาการฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน (Dental Caries)
สาเหตุของอาการฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน
อาการฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน เกิดจากการที่รับประทานอาหารเข้าไป แล้วไม่ได้แปรงฟัน ทำให้เศษอาหารติดบริเวณตัวฟัน หากไม่มีการนำเศษอาหารออก จะเกิดการสะสมของแบคทีเรียบางชนิดและผลิตกรดที่ทำลายชั้นเคลือบฟันและชั้นเนื้อฟัน
อาการฟันผุ แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ฟันผุในส่วนชั้นเคลือบฟัน
ลักษณะที่สังเกตได้ คือ มีจุดเล็กๆ สีดำบริเวณตัวฟัน หรือบางรายมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่นเหมือนชอล์กบริเวณชั้นเคลือบฟัน เป็นสัญญาณว่าฟันเริ่มผุบริเวณชั้นเคลือบฟัน หากสังเกตพบลักษณะแบบนี้ ควรเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษา ซึ่งการรักษาจะเป็นการรักษาทันตกรรมป้องกัน ด้วยการเคลือบฟลูออไรด์ หรือเคลือบหลุมร่องฟัน (Sealant) หรือกำจัดฟันผุ และเคลือบหลุมร่องฟันร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้โครงสร้างของฟันแข็งแรงและทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งจะช่วยไม่ให้ฟันผุลุกลามต่อไปในชั้นอื่นๆ ได้
ระดับที่ 2 ฟันผุในส่วนชั้นเนื้อฟัน
หากผู้ป่วยมีฟันผุและปล่อยให้การผุดำขึ้น ฟันผุนั้นจะเข้าไปในส่วนของชั้นเนื้อฟัน ซึ่งชั้นเนื้อฟันจะมีเส้นประสาท เมื่อมีการผุเข้าไปในชั้นนี้ จะทำให้เส้นประสาทมีการสัมผัสกับความร้อน และความเย็น ส่งผลให้รู้สึกเสียวฟันขึ้นมาได้ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมาพบทันตแพทย์ด้วยอาการเสียวฟัน การรักษาในระดับนี้ ทันตแพทย์จะกรอฟันเพื่อกำจัดเศษฟันที่ผุออก และนำวัสดุที่มีสีเหมือนฟันอุดลงไป
ระดับที่ 3 ฟันผุในส่วนชั้นโพรงประสาทฟัน
หากผู้ป่วยยังละเลย ปล่อยให้ฟันผุดำเนินไปในชั้นนี้ ฟันจะผุเข้าไปในส่วนชั้นโพรงประสาทฟัน ส่งผลให้มีอาการปวดฟัน การรักษาทำได้โดยการรักษาคลองรากฟัน และทำการครอบฟันต่อไป
ระดับที่ 4 ฟันผุในส่วนชั้นโพรงประสาทฟันและมีการติดเชื้อบริเวณปลายรากฟัน
หากผู้ป่วยไม่ยอมรักษา เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ในส่วนของปลายรากฟัน ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการ แต่หากปล่อยทิ้งนานไป เชื้อโรคอาจเข้าสู่บริเวณช่องว่างด้านแก้ม หรือช่องว่างบริเวณตรงขากรรไกร ทำให้เกิดการบวมหรือเข้าสู่บริเวณโพรงไซนัส ส่งผลให้เกิดอาการปวดบวมขึ้นมาได้ -
ฟันร้าว ฟันแตก (Crack Tooth
โพรงประสาทฟันติดต่อกับภายนอกผ่านรอยร้าวได้ / น้ำเย็น / น้ำร้อน ก็ส่งถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ปวดได้
สาเหตุของอาการฟันร้าว ฟันแตก
ฟันร้าว ฟันแตก เกิดจากการกัดโดนของแข็งหรือกระดูกเมื่อรับประทานอาหาร หรือเนื่องมาจากอุบัติเหตุ โดยอาการฟันร้าวจะตรวจพบค่อนข้างยาก โดยเฉพาะฟันร้าวที่ไม่รุนแรง บางครั้งอาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ซึ่งอาจจะต้องใช้การตรวจเพิ่มเติม เช่น การย้อมสี การทดสอบด้วยการกัด เป็นต้น ซึ่งหากร้าวในชั้นเคลือบฟัน ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ แต่สังเกตได้จากการมีรอยร้าวเป็นเส้นบางๆ แต่ถ้าร้าวไปถึงชั้นเนื้อฟันผู้ ป่วยจะมีอาการเสียวฟันร่วมด้วย แต่หากรอยร้าวเข้าสู่โพรงประสาทฟัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดฟัน
การรักษาอาการฟันร้าว ฟันแตก
ในกรณีที่มีฟันร้าว แต่ยังไม่มีอาการ อาจใช้วิธีการตรวจทางคลินิก เพื่อหาเส้นรอยร้าว ทันตแพทย์จะเฝ้าติดตามอาการของคนไข้เป็นระยะ หรืออาจทำการอุดฟัน หรือทำการครอบฟัน เพื่อไม่ให้รอยร้าวดำเนินต่อไป หากพบว่ารอยร้าวลงถึงชั้นคลองรากฟัน อาจต้องทำการรักษาคลองรากฟันร่วมกับทำครอบฟัน -
ฟันฝังคุด (Impacted teeth)
ฟันคุด (Impacted teeth) คือฟันซี่ใดก็ตามที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ อาจมีกระดูกหรือเหงือกมาปิดขวาง หรือมีฟันขึ้นมาแต่เอียงไปชนฟันข้างเคียง โดยฟันคุดมักจะพบที่ตำแหน่งฟันกรามซี่ในสุด หรือบางครั้งเกิดบริเวณตำแหน่งของฟันเขี้ยวได้ เมื่อฟันฝังคุดขึ้นมาและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เหงือกบริเวณที่คลุมฟันคุดที่กำลังขึ้น มีการอักเสบบวมแดง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวด บวม ตามมาได้ หากผู้ป่วยไม่ผ่าฟันคุดออก อาจเกิดปัญหาตามมา ได้แก่
1. เกิดการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟันคุด เนื่องจากมีเศษอาหารไปติดตรงบริเวณใต้เหงือกที่ฟันคุดกำลังขึ้น
2. ทำให้ฟันข้างเคียงผุ จากการที่ฟันคุดมีลักษณะการขึ้นที่ไม่ตั้งตรง ทำให้ทำความสะอาดได้ลำบาก
3. กระดูกถูกทำลาย เนื่องจากฟันคุดมีลักษณะที่ขึ้นไม่ตั้งตรง ทำให้ทำความสะอาดลำบาก เกิดการอักเสบของเหงือกและกระดูกตามมาได้
4. อาจทำให้เกิดถุงน้ำ และเนื้องอกจากฟันคุด
5. แรงผลักอาจทำให้ฟันข้างเคียงซ้อนเก
6. มีผลต่อการจัดฟัน -
โรคปริทันต์อักเสบ (Periodontal disease)
โรคเหงือกอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยมีสาเหตุมาจากการดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี ทำให้มีคราบหินน้ำลาย (คราบหินปูน) และคราบจุลินทรีย์ เกาะบริเวณตัวฟันและรากฟัน ส่งผลให้มีการอักเสบของเหงือกและกระดูกบริเวณรอบฟัน โดยสัญญาณของโรคเหงือกอักเสบ คือมีเลือดออกขณะแปรงฟัน เหงือกบวม และฟันเริ่มโยก เป็นต้น ดังนั้น ควรแปรงฟันให้สะอาด กำจัดคราบจุลินทรีย์ออกให้หมด และแนะนำพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี
-
เศษอาหารติดฟัน
กรณีฟันห่าง ฟันผุเป็นรูใหญ่ด้านข้าง เป็นโรคเหงือกอักเสบ ฟันโยก หรือมีช่องว่างระหว่างฟัน เวลาเคี้ยวอาหารชิ้นใหญ่ๆ เศษอาหารมักจะติดตรงช่องว่างเหล่านี้ กดให้เหงือกช้ำ เป็นที่สะสมของแบคทีเรีย ทำให้ปวดเหงือกและฟันบริเวณนี้มาก
-
สาเหตุของอาการปวดฟันที่ไม่ได้มาจากฟันโดยตรง ได้แก่
-
การปวดเส้นประสาทบนใบหน้า (Trigeminal neuralgia)
โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า เกิดจากการที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ที่ไปเลี้ยงบริเวณใบหน้า ถูกทับจากสาเหตุต่างๆ โดยส่วนมากมักเกิดจากเส้นเลือดสมองที่อยู่ใกล้เคียงไปกดเบียดเส้นประสาท ทำให้การทำงานของเส้นประสาทผิดปกติและไวต่อการกระตุ้นมากเกินไป นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ก้อนเนื้องอกหรือซีสต์ในสมองกดเบียดเส้นประสาท มีการอักเสบของเส้นประสาทจากโรค multiple sclerosis การบาดเจ็บของเส้นประสาทจากอุบัติเหตุ เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมาตรวจด้วยอาการปวดแสบร้อนบริเวณใบหน้า เมื่อลูบหน้า ล้างหน้าก็จะมีอาการแสบบริเวณดังกล่าว เหมือนมีเข็มทิ่มแทง เป็นต้น
-
ไซนัสอักเสบ (sinusitis)
สาเหตุหลักส่วนหนึ่งอาจจะมาจากฟัน เนื่องจากฟันบนด้านหลังใกล้โพรงไซนัส เมื่อมีฟันผุและลุกลามถึงชั้นโพรงประสาทฟัน อาจมีการอักเสบติดเชื้อเข้าโพรงไซนัสได้ หรืออีกสาเหตุเกิดจากไซนัสอักเสบ โดยผู้ป่วยมักจะมาพบทันตแพทย์จากการปวดฟันบน และเมื่อเคาะ จะไม่สามารถระบุได้ว่าปวดฟันจากซี่ใด ซึ่งมักจะมีหวัดและน้ำมูกร่วมด้วย ซึ่งการวินิจฉัยของทันตแพทย์ต้องอาศัยการวินิจฉัยร่วมกับแพทย์หู คอ จมูก ร่วมกัน
-
ปวดฟันจากกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกร (Myofascial pain)
สาเหตุของการปวดฟันจากกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกร มีหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากการนอนกัดฟัน ปวดและเจ็บตามกล้ามเนื้อ หรือแม้แต่การใช้ฟันผิดประเภท เช่น การกัดของแข็ง การนั่งเท้าคาง การเคี้ยวแบบลงน้ำหนักไปที่ฟันด้านใดด้านหนึ่งเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีการปวดกล้ามเนื้อบริเวณนั้นได้
อาการปวดฟัน ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากฟันผุ หากฟันผุไม่ลึกมากนักก็จะมีอาการเสียวฟัน แต่ถ้าเกิดมีฟันผุใกล้โพรงประสาทฟัน หรือผุทะลุโพรงประสาทฟัน ก็จะเริ่มมีอาการปวดเป็นบางครั้ง ปวดบ่อยขึ้น จนถึงปวดมาก ปวดตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งยาแก้ปวดก็ไม่สามารถช่วยได้!
ปวดฟันทำอย่างไรดี วิธีบรรเทาอาการปวดฟันเบื้องต้น
หากยังไม่สามารถไปพบทันตแพทย์ได้ทันที สามารถบรรเทาอาการปวดฟันเบื้องต้นด้วยตนเอง ได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- ลดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ปวดฟันเพิ่มขึ้น หรือทำให้ประสาทฟันบาดเจ็บมากขึ้น
เช่น
– ของเย็นจัด : น้ำแข็ง ไอศกรีม
– ของร้อนจัด : น้ำร้อน ชาร้อน กาแฟร้อน อาหารร้อน
– อาหารที่มีรสหวานจัด รสเปรี้ยว - ลดการกระทบกระแทกกับฟันซี่นั้น อาการปวดฟันจะเป็นมากขึ้น ถ้าฟันซี่นั้นถูกกระแทกบ่อยๆ หรือตัวฟันสูงกว่าซี่อื่นๆ บางครั้งฟันถูกหนุนลอยตัวขึ้นมาเพราะมีหนอง
- รับประทานอาหารที่ไม่ต้องใช้แรงเคี้ยวมาก เช่น อาหารนิ่มๆ เลี่ยงอาหารแข็งๆ หรือเหนียวๆ ที่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวมาก หรือเลี่ยงไปเคี้ยวอีกด้าน
- ใช้ไหมขัดฟัน ถ้าอาการปวดเกิดจากเศษอาหารติดฟัน อาการจะเป็นมากถ้าอาหารถูกอัดแน่นในซอกเหงือกเป็นเวลานานๆ วิธีที่ดีที่สุดคือ ให้รีบเอาเศษอาหารเหล่านั้นออกให้เร็วที่สุด โดยการใช้ไหมขัดฟัน (Dental floss) ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟัน
- ใช้น้ำร้อนช่วยประคบ ถ้ามีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน เป็นหนองที่ปลายรากฟัน และมีอาการบวมเห็นได้ชัด การใช้น้ำร้อนช่วยประคบบริเวณที่บวมภายนอกช่องปากช่วยลดอาการปวดฟันได้ดี และช่วยเพิ่มการระบายหนอง สามารถบรรเทาอาการปวดได้ดีทีเดียว
- น้ำมันกานพลู เป็นยาที่ช่วยลดอาการปวดฟันได้ ซึ่งมีการนำมาใช้เป็นเวลานานแล้ว โดยใช้สำลีชุบน้ำมันกานพลู แล้วอุดลงไปในรูที่ผุ ฤทธิ์ของน้ำมันกานพลูจะออกฤทธิ์เป็นยาแก้ปวดฟันที่ดีมาก
- อมเกลือแก้ปวดฟัน เกลือมีสรรพคุณที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดฟัน เราสามารถนำเกลือผสมกับน้ำอุ่น อมทิ้งไว้ประมาณ 30 วินาที เพื่อบรรเทาอาการปวดฟันได้
วิธีการข้างต้นนั้น ไม่ใช่เป็นวิธีการรักษาที่ถาวร เป็นเพียงบรรเทาอาการปวดชั่วคราว หากมีโอกาสพบทันตแพทย์ก็ไม่ควรรอช้า เพื่อรักษาให้ถูกต้องและตรงจุดที่สุด อาการของโรคฟัน โรคเหงือกจะได้หายอย่างถาวร และไม่ลุกลามต่อไป
จัดฟันปลอดเชื้อ ปลอดภัยจาก COVID-19 : ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลศิครินทร์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ทพ.ธีรภัทร ศิริวรรณ์ และ ทพ.ณัฐวุฒิ อุตรสัก
งานทันตกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่